การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

1,692 จำนวนผู้เข้าชม

การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

 ขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร


(ตามมาตรา 70 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543) (ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมที่ดิน)


ด้านผู้จัดสรรที่ดิน


        โครงการจัดสรรที่ดินที่ผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน   พ.ศ.2515 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการบำรุงรักษากิจการอันเป็นสาธ​ารณูปโภค 


ด้านผู้ซื้อที่ดินจัดสรร


        ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่​งหนึ่งของจำนวนที่ดินแปลงย่อยตามแผนผังโครงการอาจยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยดำเนินการดังนี้

 

        1. จัดให้มีการประชุมผู้ซื้อที่ดินจัดสรร เพื่อมีมติจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและแต่งตั้งตัวแทนยื่นคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรพร้อมด้วยข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (มติดังกล่าวต้องมีผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยที่จัดจำหน่ายตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตลงคะแนนเสียงให้จัดตั้ง และในการลงคะแนนเสียง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรแต่ละแปลงมีเสียงเท่ากับหนึ่งคะแนนเสียงและหากได้แบ่งแยกที่ดินแปลงย่อยตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตออกไปอีกให้ถือว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์แปลงคงเหลือและแปลงที่ได้แบ่งแยกออกไปมีเสียงรวมกันเท่ากับหนึ่งคะแนนเสียงเช่นเดียวกับเจ้าของรวม)


        2. จัดทำข้อบังคับที่มีรายการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดตั้งการบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545 ข้อ 3 ซึ่งผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมีมติให้ความเห็นชอบในที่ประชุมด้วย


        3. จัดทำรายงานการประชุมทุกครั้งที่มีการประชุม​


        4. ตัวแทนผู้ได้รับแต่งตั้ง ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังนี้


              – รายงานการประชุมของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร (จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยตามแผนผังโครงการ) ที่มีมติให้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เห็นชอบข้อบังคับ และแต่งตั้งตัวแทนในการยื่นคำขอจดทะเบียน

              
              – สำเนาข้อบังคับ (ตามข้อ 2) ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังนี้

                
                 1. ชื่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร


                 2. วัตถุประสงค์


                 3. ที่ตั้งสำนักงาน


                 4. ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ การเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การเริ่มดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรซึ่งต้องประชุมอย่างน้อยปีละสองครั้ง


                 5. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน การบัญชี และการเงิน


                 6. ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของสมาชิก


                 7. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่


                 8. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ


                 9. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร


5. เมื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้แล้ว ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร กรณีที่ดินแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ใดซื้อ หรือได้โอนกลับมาเป็นของผู้จัดสรรที่ดิน ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และแสดงหนังสือสำคัญการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร 


ด้านพนักงานเจ้าหน้าที่

            เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาได้รับคำขอจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

             1. ปิดประกาศคำขอไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และบริเวณที่ดินที่ทำการจัดสรรมีกำหนดสามสิบวัน

             2. แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่ 286 (พ.ศ.2515) หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคทราบตามที่อยู่ที่ได้ให้ไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่

                  – กรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้รับโอนใบอนุญาต หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวข้างต้น คัดค้านการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณา หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวข้างต้นมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการบำรุงรักษากิจการอันเป็นสาธารณูปโภคจริง ให้นำความในมาตรา 43 วรรคสอง และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากคณะกรรมการเห็นว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติหน้าที่ในการบำรุงรักษากิจการอันเป็นสาธารณูปโภค ให้ยกเลิกการดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร                                                            

                 – กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาต หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคไม่คัดค้านหรือไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการโดยไม่ดำเนินการตามมาตรา 43 วรรคสอง และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และให้มีอำนาจจดทะเบียนโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคให้แก่ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร   


การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม


                การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากร

ข้อดีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร


1.     เราจะได้หมู่บ้านมาเป็นของเราจริง ๆ

2.    ได้บริหารงานเอง กำหนดอะไรได้เอง

3.    ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สิน

4.    ลดปัญหาความจุกจิกและไม่เป็นระเบียบในหมู่บ้าน

5.    ถ้าส่วนกลางเสีย มีเงินซ่อม

6.    เป็นระบบมากขึ้น

7.    ปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น

8.    โปร่งใส ตรวจสอบได้

9.    รับโอนทรัพย์สินและสาธารณูปโภคในโครงการจากผู้จัดสรรที่ดินมาเป็นของผู้ซื้อบ้านทุกๆ คน

10.  ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินและภาษีอากรจากรัฐ

11.    เจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกรายในโครงการมีส่วนร่วม ในการบริหารงานหมู่บ้าน

12.   ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจะได้รับการแก้ไขให้ลดน้อยลงไป

13.   ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา อีกทั้งบริการสาธารณะที่ชำรุดทรุดโทรม จะมีงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซม

14.   มีกฎหมายจัดระเบียบชุมชนเป็นของตนเอง ซึ่งเรียกว่าข้อบังคับของหมู่บ้าน

15.   สร้างความเป็นธรรมและพิทักษ์ความสะอาด ความปลอดภัยให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

16.  มูลค่าทรัพย์สินจะทวีเพิ่มขึ้นในระยะยาว ภายหลังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว

17.   คุณภาพชีวิตจะสดใส คือประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับภายหลังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว


ข้อเสียการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร



1.     มีภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงดูแลรักษาสาธารณูปโภค

2.    ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้ตามอำเภอใจ

3.    ต้องมีระบบในการบริหารการจัดการที่ดี
 

การขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน


1.     ยื่นคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินที่สำนักงานที่ดิน

2.    เจ้าหน้าที่รับคำขอและส่งต่อให้สำนักงานส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

3.    สำนักงานส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตรวจสอบแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดิน

4.    เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จริง

5.    เจ้าหน้าที่ประมาณการราคาค่าก่อสร้าง

6.    ทำวาระการประชุมนําเรื่องเขาที่ประชุมคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน

7.    คณะกรรมการจัดสรรที่ดินประชุมพิจารณาและลงมติ

8.    เจ้าหน้าที่ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอจัดสรรได้ทราบ

 

บทความแนะนำ

สนใจคอร์สเรียนอสังหาหรือปรึกษาด้านการลงทุนอสังหา
สถาบันสอนอสังหา Future Developer Academy