Last updated: 21 ธ.ค. 2565 | 2287 จำนวนผู้เข้าชม |
คุณ อนันต์ อัศวโภคิน เป็นเจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย อดีตตำแหน่งประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทในเครืออีกมากมายหลายบริษัท
เจ้าของวลี “อันดับ” ไม่สำคัญเท่า “กำไร”
สำหรับใครที่กำลังทำธุรกิจ ข้อคิดที่ได้รับ มีประโยชน์มากกับช่วง เศรษฐกิจ ในตอนนี้
1. ทำธุรกิจมาหลายอย่าง ส่วนใหญ่เจ๊ง! แต่ทุกครั้งได้บทเรียน เช่น เพราะไม่เข้าใจธุรกิจที่ทำ, เพราะถูกคู่ค้าหลอก, เพราะคิดว่าตัวเองเก่ง, เพราะไม่เข้าใจตลาดดีพอ เป็นต้น
2. ธุรกิจที่ทำมาทั้งหมด ชอบโฮมโปรมากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจง่ายๆ แต่ไม่มีใครคิดทำ สมัยก่อนกว่าจะซื้อของครบต้องตระเวนไปทั่ว โฮมโปรเป็น One-Stop Service ด้านวัสดุก่อสร้างรายแรกของประเทศไทย
3. ทำธุรกิจอย่าดูผลตอบแทนต่อยอดขาย แต่ให้ดูจากผลตอบแทนต่อเงินลงทุนที่ใช้ไป
(Return on capital employed) และการตั้งราคา
(Princing) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ
4. การทำธุรกิจ มีแต่คนพูดถึงการเติบโต (Growth) โดยไม่ค่อยได้คุยเรื่องคุณภาพ (Quality) ซึ่งมี 3 อย่าง
อย่างแรก คุณภาพของสินค้า
อย่างที่สอง คุณภาพของบริการ
อย่างที่สาม คุณภาพของเวลาส่งมอบ เมื่อคุณภาพได้ การเติบโตจะตามมาเอง
5. จอร์จ โซรอส เคยถามว่า ในธุรกิจที่ทำ คุณทำกำไรได้อย่างไร
(In your business, how do you make money ?) เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีเทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวอะไรเลย ทำกำไรได้อย่างไร – ตอบว่า เรามีความสามารถในการซื้อที่ตาบอดซึ่งราคาต่างจากที่ริมถนนมาก และสามารถทำกำไรจากตรงนี้ได้
6. คนที่คิดไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่เจ๊ง ก็ เจริญ – ตลอดเส้นสุขุมวิท ศูนย์การค้าที่ขายพื้นที่ต่อตารางเมตรได้ราคาสูงที่สุด คือมาบุญครอง ซึ่งจับตลาด C จึงเป็นที่มาของวิธีคิดทำ Terminal 21 ที่ไม่ได้จับตลาด A และ B+ ซึ่งศูนย์การค้ารายใหญ่แถวนั้นจับอยู่ แต่จับตลาดรองลงมา
7. ทุกวันนี้ Food Court ที่ Terminal 21 ประสบความสำเร็จ อย่างมาก ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการทำศูนย์อาหารจาก คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ที่บอกว่าธุรกิจในอนาคต จะมีแค่ 2 อย่างเท่านั้น คือ
พลังงานสำหรับเครื่องจักร (คือเชื้อเพลิง) และพลังงานสำหรับมนุษย์ (คืออาหาร) ซึ่งต้องเติมวันละ 3 ครั้ง
8. เอกสารบนโต๊ะผู้บริหารมีอยู่แค่ 2 อย่าง คือ เอกสารที่ยังไม่ตัดสินใจ(หรือไม่กล้าตัดสินใจ) กับ เอกสารที่เก็บไว้อุ่นใจ หากบริหารจัดการได้ดี เอกสารที่ต้องตัดสินใจก็รีบตัดสินใจ เอกสารที่เก็บไว้เพื่ออุ่นใจก็ใส่ไว้ในเครื่องคอมฯ ดังนั้นทุกวันนี้บนโต๊ะทำงาน(ของคุณอนันต์) ไม่มีเอกสารอะไรเลย
9. หัวหน้างานทุกคน ต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายบุคคลสำหรับพนักงานของตนเอง รับสมัครเอง สัมภาษณ์เอง ตัดสินใจเลือกเองและรับผิดชอบในการตัดสินใจนั้น – ถ้าเราเลือกหัวหน้างานได้ถูกต้อง เราไม่ต้องกังวลเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกหรือตัดสินใจผิด
10. คนและวัฒนธรรมองค์กร คือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ลูกน้องต้องเก่งกว่าเรา ถ้าลูกน้องเหมือนเรา บริษัทจะไม่เจริญเลย ปัจจัยสำคัญของการบริหารคนคือต้องอดทนทำงาน
กับคนที่ไม่เหมือนเรา
11. อย่าสู้กับคนที่แข็งแรงหรือเก่งกว่า อย่าเล่นเกมส์ที่คู่แข่งเป็นคนตั้งกติกา (Don’t play the game, they set the rule !)
12. KPI (คุณอนันต์เรียกเล่นๆ ว่า กะปิ) ไม่เหมาะกับการใช้วัดตัวบุคคล แต่เหมาะกับการใช้วัดผลงานของทีมมากกว่า
13. ผลตอบแทนสำหรับพนักงานต้องถูกคำนวณจาก % ความสำเร็จของงานที่ทำ (% of Achievement) เช่นหากธุรกิจขาดทุนอยู่ 20 ล้าน ตอนต้นปีตั้งเป้าจะเท่าทุน (Breakeven) ปลายปีจบลงขาดทุน 1 ล้าน ก็ถือว่าสำเร็จ 90% พนักงานควรได้รับรางวัลตามสัดส่วน
14. การทำธุรกิจ อย่าทำ Backward Integration เพราะจะทำให้เราควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบไม่ได้ เนื่องจากเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน การ Reject ของทำได้ยากขึ้น
15. ที่ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” และบริษัทในเครือไม่มีกลิ่นไอของธุรกิจครอบครัว เพราะไม่มีลูกหรือญาติพี่น้องของคุณอนันต์ทำงานเลย มีแต่ “มืออาชีพ”
16. อย่ากลัวลูกน้องเก่งกว่า ยิ่งเก่งกว่ายิ่งดี เพราะบริษัทจะได้เติบโต ยิ่งคิดแตกต่างยิ่งดี
เพราะถ้า “ลูกน้อง” คิดเหมือนกับเราทุกเรื่อง องค์กรจะไม่พัฒนา
คุณอนันต์บอกว่า เจ้าของกิจการเหมือนกับเจ้าของสโมสรฟุตบอล
หน้าที่ของ “เจ้าของ” ไม่ใช่ลงไปเตะบอลในสนาม แต่มีหน้าที่หา “นักเตะ” เก่งๆ องค์กรที่ไม่เติบโตเพราะ “เจ้าของ” ชอบลงสนามเอง ชอบลูกน้องที่เก่งน้อยกว่าตัวเอง เพื่อจะได้รู้สึกว่าตัวเองเก่ง
นอกจากนั้นหากใครได้ติดตามคุณอนันต์จะรู้ว่าท่านไม่ธรรมดา เพราะด้วยแนวคิดที่ล้ำกว่าใคร อาทิ
การสั่งห้ามให้ศูนย์อาหารใน Terminal 21 มีกำไร ถ้าใครทำกำไรจะมีความผิด เพราะจะใช้ราคาที่ถูกและคุณภาพดีเป็นตัวเรียกลูกค้าเข้าศูนย์ จนทำให้ Terminal 21 แจ้งเกิด
Ref. : Propertytoday , ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ หนุ่มเมืองจันท์
รวบรวมโดยเพจ สถาบันสอนอสังหา Future Developer Academy
สนใจคอร์สเรียนอสังหาหรือปรึกษาด้านการลงทุนอสังหา
สถาบันสอนอสังหา Future Developer Academy
21 ก.พ. 2566
25 ม.ค. 2566
27 ม.ค. 2566